Tobacco Harm Reduction Network (Thailand)

รวมบทความ ข่าวสาร งานวิจัย เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการลดสารพิษจากการสูบบุหรี่แบบมวน และลดมลพิษให้กับคนรอบข้าง

เหตใดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจึงผิดกฎหมายในประเทศไทย ทั้งที่จริงแล้วไม่ควรเป็นเช่นนั้น

โดย วรนัย วาณิชกะ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 ใน Current Affairs

ในทำนองเดียวกับการค้าประเวณี การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นผิดกฎหมายแต่กลับพบได้บ่อยมาก มีคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้เห็นกันทุกแห่งหน เช่นเดียวกับการค้าประเวณีที่มีให้เห็นกันอยู่ทุกที่

นี่เป็นสองตัวอย่างจากตัวอย่างอีกมากมายที่แสดงให้เห็นว่าการตีความและการบังคับใช้กฎหมายนั้นจัดว่าไร้เหตุผลสิ้นดี

การใช้บุหรี่ไฟฟ้าแย่ยิ่งกว่าการปลุกระดม

ในประเทศไทยบุหรี่ไฟฟ้า บารากุไฟฟ้าและน้ำยารีฟิลถูกห้ามใช้ตั้งแต่ปี 2557 ประเทศอื่นได้ออกคำเตือนแก่พลเมืองของตนที่วางแผนจะเดินทางมาประเทศไทยว่าการมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองอาจทำให้คุณต้องโทษจำคุกนานสูงสุด 10 ปี และปรับ 30,000 บาท

แม้แต่การละเมิดมาตรา 116 ในกฎหมายการปลุกระดม คุณยังต้องโทษจำคุกสุงสุดเพียงแค่เจ็ดปี ใช่แล้วครับ…การใช้บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายยิ่งกว่าการปลุกระดมให้เกิดการกบฏต่อรัฐเสียอีก

สุขภาพไม่ใช่ประเด็นโต้แย้ง

ถ้าถามอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้า พวกเขาก็จะอ้างถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายเพื่อพิสูจน์ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ถ้าถามองค์กรต่อต้านการใช้บุหรี่ไฟฟ้า พวกเขาก็จะอ้างถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายเพื่อพิสูจน์ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

แต่หากเรายอมรับว่านิโคตินนั้นเป็นอันตรายไม่ว่าจะบริโภคอย่างไรก็ตาม แต่หากไม่ได้สูบกระดาษและยาสูบที่เผาไหม้เข้าไปในปอดโดยตรง การใช้บุหรี่ไฟฟ้าย่อมเป็นพิษน้อยกว่าการสูบบุหรี่ทุกรูปแบบ

บทความในเดือนกันยายน 2562 ของ ASH UK (องค์กรส่งเสริมสุขภาพและรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่แห่งสหราชอาณาจักร) ระบุว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย แต่มีพิษน้อยกว่าการสูบบุหรี่ อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ที่ได้รับความนิยมอีกด้วย

ดังนั้นข้อโต้แย้งในการห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ไม่น่าจะใช่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมถึงไม่ห้ามสูบบุหรี่ด้วยล่ะ เพราะบุหรี่อันตรายกว่ามาก

มาดูตัวเลขกันบ้าง

ในบทความที่ตีพิมพ์โดยบางกอกโพสต์เมื่อเดือนกันยายนปี 2562 พญ. สุวรรณภา ปโกฏิประภา กล่าวว่าอัตราการเติบโตแบบปีต่อปีของตลาดบุหรี่ไฟฟ้านอกกฎหมายของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 100% ในช่วงสามปีที่ผ่านมา

ซึ่งทำให้มูลค่าตลาดอยู่ที่ 3 ถึง 6 พันล้านบาทหรือประมาณ 5% ของอุตสาหกรรมยาสูบทั้งหมด

จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราประจำปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศไทยพบว่ามีผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยกว่า 10.7 ล้านคน หรือประมาณ 19.1% ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังคาดว่ามีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองอีก 18 ล้านคน

จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด ในแต่ละปีจะมีผู้สูบบุหรี่ราว 71,000 คนเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จากจำนวนผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองทั้งหมดจะมีผู้เสียชีวิตราว 7,000 คนต่อปี อุตสาหกรรมด้านสุขภาพใช้จ่ายเงินประมาณ 4 ถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อปีเพื่อดูแลผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่

ประเด็นโต้แย้งนั้นชัดเจน

ในการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย รัฐจะได้รับรายได้ภาษีหลายล้านบาท และจะเป็นการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาในธุรกิจนี้และส่งเสริมการแข่งขัน

ผู้สูบบุหรี่จะมีจำนวนน้อยลงเนื่องจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ที่ได้รับความนิยม ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องเงินทองเท่านั้น แต่เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย

เห็นได้ชัดว่าการไม่สูบบุหรี่หรือไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าใด ๆ เลยสักอย่างนั้นถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพ แต่เรื่องนี้ควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล ไม่เช่นนั้น เราก็ควรห้ามสูบบุหรี่ ห้ามแอลกอฮอล์ และเนื่องจากมลพิษก็ห้ามหายใจไปด้วยเลย

ทว่าคุณทราบหรือไม่ว่าเหตุใดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจึงผิดกฎหมาย

การยาสูบแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลแต่เพียงผู้เดียวที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบในราชอาณาจักรไทย โดยมีรายได้เกือบ 7 หมื่นล้านบาทในปี 2560 หน่วยงานนี้เคยใช้ชื่อว่าโรงงานยาสูบ (Thailand Tobacco Monopoly) จนกระทั่งได้เปลี่ยนชื่อในปี 2561 เพราะอย่างที่คุณทราบ คำว่า “ผูกขาด (Monopoly)” นั้นชัดเจนเกินไป

เมื่อปีที่แล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่ารัฐบาลจะยังคงห้ามบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เขาให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่สามารถพิจารณาเพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจแต่ต้องใส่ใจสุขภาพของประชาชนด้วย และโรคที่เกี่ยวข้องกับใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นภาระเพิ่มเติมต่องบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ

แล้วโรคที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ล่ะ…ก็คงไม่เป็นไรมั้งเพราะเป็นการผูกขาดของรัฐที่ทำรายได้ให้รัฐเกือบ 7 หมื่นล้านบาท

เพราะฉะนั้นเราจึงวนกลับไปสู่โลกของความจริงที่ไร้เหตุผลที่เราอาศัยอยู่

รัฐบาลปล่อยให้คนสูบสารที่อันตรายมากกว่า โดยห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารพิษน้อยลงซึ่งเป็นตัวช่วยยอดนิยมในการเลิกบุหรี่ ในขณะเดียวกัน ทุกแห่งทุกหนก็มีคนสูบบุหรี่และใช้บุหรี่ไฟฟ้า

ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่การสูบบุหรี่หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่อยู่ที่ว่าเรามีกฎหมายที่สมเหตุสมผลได้หรือไม่

เห็นได้ชัดว่าเราทำไม่ได้ เพราะหากประเทศไทยทำให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย นั่นจะเป็นการตัดทอนกำไรแบบผูกขาดของรัฐ

สุขภาพไม่ใช่ปัญหา แต่เงินต่างหากที่เป็นปัญหา

วรนัย วาณิชกะ

วรนัย วาณิชกะ เป็นนักวิจารณ์ทางการเมืองและสังคม เขาได้รับรางวัลอายุมงคลโสณกุลประจำปี 2553 สำหรับคอลัมน์ Sunday ของเขาที่เคยมีอยู่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เขาเป็นอาจารย์สอนวิชาการสื่อสารทางการเมืองและอุตสาหกรรมสื่อระดับโลกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการพูดในที่สาธารณะที่มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ ผลงานของเขาเคยได้รับการตีพิมพ์ใน Griffith Review ของออสเตรเลีย เขาเคยปรากฏตัวทาง BBC และ ABC และเป็นวิทยากรในงานฟอรัมต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Thisrupt

Click to rate this post!
[Total: 2 Average: 5]